ช่องเขาขาด

ช่องไฟนรก

ต.ท่าเสา อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี

ย้อนเวลากลับไปสู่เรื่องราวในอดีต “ช่องเขาขาด” หรือที่เรียกกันอีกชื่อว่า “ช่องไฟนรก” (Hellfire Pass) ซึ่งเป็นจุดที่ใหญ่ที่สุดในส่วนหนึ่งของเส้นทางรถไฟสายไทย-พม่า ที่กองทัพญี่ปุ่นได้สร้างขึ้น ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อใช้เป็นเส้นทางเดินทัพเข้าไปสู่ประเทศอินเดีย แต่การสร้างทางรถไฟสายนี้ใช่ว่า จะง่ายดายนัก เพราะเต็มไปด้วยอุปสรรคทางธรรมชาติมากมาย ไม่ว่าจะเป็นภูเขา หน้าผา แม้แต่หุบเหวที่อันตราย ทำให้การก่อสร้างค่อนข้างยากลำบาก และสิ่งที่ตามมาคือการสูญเสียชีวิตเชลยที่ถูกเกณฑ์มาเป็นคนงานก่อสร้าง ทางรถไฟสายนี้อย่างมากมายมหาศาล

ช่องเขาขาด หรือมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ช่องไฟนรก”(Hellfire Pass) ชื่อนี้ได้มาจากการที่ เหล่าเชลยที่ทำงานในเวลากลางคืน ต้องจุดคบไฟและก่อกองไฟเวลาทำงาน เมื่อแสงไฟสะท้อนเงาผู้คน ทำให้เห็นเป็นแสงเงาวูบวาบราวกับกับเปลวเพลิงแห่งนรกนั่นเอง

กิจกรรมแนะนำ

  • เดินชมพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมเรื่องราวและภาพประวัติศาสตร์ของการก่อสร้างทางรถไฟในยุคนั้น ที่แห่งนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลออสเตรเลีย ที่ไม่เพียงจัดแสดงข้าวของ เครื่องใช้ต่าง ๆ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เท่านั้น หากยังมีมินิเธียเตอร์ที่นำพาทุกคนย้อนเวลา กลับไปสู่ยุคนั้นผ่านภาพยนตร์เงียบแบบขาว-ดำ ซึ่งได้ถ่ายทำจากเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นระหว่าง การก่อสร้างทางรถไฟสายมรณะสายนี้
  • เปิดประสบการณ์จริงด้วยการเดินลงไปชมช่องเขาขนาดกว้าง 17 เมตร สถานที่เกิดเหตุขึ้นจริง ในอดีตที่ยังคงหลงเหลือร่องรอยของทางรถไฟและการระเบิดหินขณะก่อสร้าง ทุกอณูของความเจ็บปวด ของชีวิตที่ถูกทรมานยังคงอบอวลในบรรยากาศที่บางมุมคุณสามารถสัมผัสได้อย่างไรอย่างนั้น

โดยเส้นทางการไปบริเวณช่องเขาขาดนี้มี 2 เส้นทาง คือ ด้านล่าง เป็นเส้นทางที่เดินเข้าไปในช่องเขาบริเวณแนววางรางรถไฟ ส่วนอีกเส้นทางหนึ่งเป็นเส้นทางที่ต้องเดินขึ้นบันไดขึ้นไปบนเขาเพื่อชมช่องเขาจากด้านบนลงมา ทั้งสองเส้นทางใช้ระยะเวลาในการเดินไปต่างกัน คือเดินในช่องเขาใช้เวลาประมาณ 1.5-2 ชั่วโมง ส่วนด้านบน เหนื่อยกว่าและใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง

ข้อมูลท่องเที่ยว

  • ชื่อ : ช่องเขาขาด ( Hellfire Pass )
  • ประเภท : อนุสรณ์สถาน
  • เปิด : 09.00-16.00 น. ทุกวัน
    พิพิธภัณฑ์ปิดในวันสำคัญ ดังนี้ วันที่ 13-15 เมษายน วันสงกรานต์ วันที่ 5 ธันวาคม วันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช วันที่ 24-27 ธันวาคม วันคริสมาส วันที่ 31 ธันวาคม-1 มกราคม วันปีใหม่
  • ค่าชม : ฟรี
  • คนพิการ : มีห้องน้ำ และทางลาดสำหรับคนพิการ

ติดต่อสอบถาม

  • โทร. 034-919605 , 08-1773-0328
  • ททท.สำนักงานกาญจนบุรี โทร. 0-3451-1200, 0-34512-800
  • สนง.การท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดกาญจนบุรี โทร. 034 520 335

แผนที่

พิกัด : ต.ท่าเสา อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี
ตั้งอยู่ภายในกองการเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานทหารพัฒนา หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา บริเวณกิโลเมตรที่ 64-65 บนทางหลวงหมายเลข 323 (กาญจนบุรี-ไทรโยค-ทองผาภูมิ)

ความรู้เพิ่มเติม

สถานอนุสรณ์ที่แสดงถึงความโหดเหี้ยม ของทหารญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นเส้นทางรถไฟสายไทย-พม่า ที่ญี่ปุ่นต้องการสร้างผ่าน และดำเนินการสร้างโดยเชลยศึกชาวออสเตรเลีย และเชลยศึกฝ่ายพันธมิตร เล่ากันว่าช่องทางที่เรียกว่าช่องเขาขาดนี้ ทหารญี่ปุ่นใช้ทหารเชลยเป็นทาสในการก่อสร้างทาง ชีวิตทหารเหล่านั้นล้มตายกันเป็นเบือ เพราะทำงานหนักและโรคภัยไข้เจ็บที่ชุกชุม โดยเฉพาะไข้ป่า

ช่องเขาขาด เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางรถไฟสายประวัติศาสตร์ไทย-พม่าในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มีความยาว 73 เมตร ลึกสูง 25 เมตร เกิดจากการตัดเจาะภูเขาหินด้วยมือของทหารเชลยศึกชาวออสเตรียและอังกฤษ  โดยเริ่มก่อสร้างและตัดช่องเขาเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 1943 การก่อสร้างใช้เวลา 3 เดือน เชลยศึกต้องทำงานถึง18 ชั่วโมงต่อวัน

พิพิธภัณฑ์ช่องเขาขาด เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2542 โดยได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลออสเตรเลียในการรวบรวมข้อมูล จัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์ ซึ่งบริเวณการจัดแสดงแบ่งเป็นสองส่วน คือ การจัดแสดงนิทรรศการภายในอาคารและส่วนที่สามารถเดินชมช่องเขาที่เป็นสถานที่จริงด้านหลังอาคาร พิพิธภัณฑ์ส่วนที่จัดแสดงภายในอาคารหลังใหญ่ ภายในติดแอร์ทั้งชั้น เป็นนิทรรศการแสดงเรื่องราว ทั้งภาพถ่าย สไลด์ วีดีโอ ที่ถ่ายทอดถึงความโหดร้าย ป่าเถื่อนของสงคราม โดยบรรดาเชลยศึกถูกบังคับให้สร้างเส้นทางรถไฟผ่านเข้าไปยังป่าดงดิบที่เต็มไปด้วยอันตรายจากโรคไข้ป่า รวมทั้งความยากลำบาก และความอดอยากในภาวะสงคราม ทำให้เชลยนับหมื่นคนต้องล้มตายลง เส้นทางรถไฟสายนี้จึงถูกเปรียบเปรยว่าเป็นเส้นทางที่ต้องใช้ หนึ่งไม้หมอนต่อหนึ่งชีวิต ‘A life for every sleeper’ นอกจากนี้ภายในพิพิธภัณฑ์ ยังมีการจัดแสดงเครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องนุ่งห่มของเชลยศึก และอุปกรณ์ในการสร้างทาง เพื่อให้เห็นว่าในขณะนั้นยังไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือ และเทคโนโลยีมากไปกว่าการใช้แค่ค้อน พลั่ว สิ่ว สว่าน จอบ ค้อน และบุ้งกี๋ ในการสร้างทางรถไฟบางส่วนของนิทรรศการมีการเขียนบรรยายถึงการลงโทษเชลย มีห้องจัดแสดงหุ่นจำลองสภาพความเป็นอยู่ของเชลย เป็นหุ่นจำลองเชลยศึกขณะที่แบกไม้หมอนในสภาพที่ผอมโซ ไร้เรี่ยวแรง ไม่มีเสื้อผ้าใส่ มีแค่ผ้าเตี่ยวพันเป็นกางเกงในเท่านั้น ตัวอย่างอาหารของเชลยก็มีแค่ข้าวกองเล็กๆ กับผักดองและปลาแห้ง จดหมายที่เชลยสามารถส่งไปยังญาติ ก็เป็นเพียงข้อความพิมพ์สำเร็จที่ให้เชลยกรอกเพียงแค่ว่ายังมีชีวิตอยู่เท่านั้น ส่วนที่สองของพิพิธภัณฑ์ จะอยู่ด้านหลังของพิพิธภัณฑ์ เป็นเส้นทางเดินลงไปยังบริเวณช่องเขาขาด ที่เป็นพื้นที่จริงที่นักโทษสงครามได้ร่วมกันสร้างเส้นทางแห่งนี้ขึ้นด้วยความยากลำบาก โดยเส้นทางการไปบริเวณช่องเขาขาดนี้มี 2 เส้นทาง คือด้านล่าง เป็นเส้นทางที่เดินเข้าไปในช่องเขาบริเวณแนววางรางรถไฟ ส่วนอีกเส้นทางหนึ่งเป็นเส้นทางที่ต้องเดินขึ้นบันไดขึ้นไปบนเขาเพื่อชมช่องเขาจากด้านบนลงมา ทั้งสองเส้นทางใช้ระยะเวลาในการเดินไปต่างกัน คือเดินในช่องเขาใช้เวลาประมาณ 1.5-2 ชั่วโมง ส่วนด้านบน เหนื่อยกว่าและใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง

ที่มาข้อมูล
thailandtourismdirectory.go.th
thai.tourismthailand.org
kanchanaburi.go.th