พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเก่า
ต.บ้านเก่า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี
จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นบนเส้นทางรถไฟสายมรณะ
หลายคนไม่เคยรู้มาก่อนว่า จุดเริ่มต้นของงานโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ของไทยและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า ย้อนไปไกลถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อ ดร.เอช อาร์ ฟาน เฮเกอเรน นักโบราณคดีชาวฮอลันดาทำงานอยู่ที่ประเทศอินโดนีเซีย ถูกกองกำลังทหารญี่ปุ่นจับเป็นเชลยสงคราม ส่งให้มาสร้างทางรถไฟที่จังหวัดกาญจนบุรี ระหว่าง พ.ศ.2486-2487
ระหว่างนั้น ดร.เฮเกอเรน ได้พบเครื่องมือกะเทาะของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตามเส้นทางรถไฟใกล้สถานีบ้านเก่า เมื่อสงครามสงบ เรื่องราวการค้นพบเครื่องมือหินในประเทศไทยถูกเผยแพร่ จึงเป็นที่สนใจในแวดวงโบราณดคีทั่วโลก ภายหลังมีความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลเดนมาร์ก ทำการสำรวจและขุดค้นทางโบราณดีตามหลักวิชาสากลที่แหล่งโบราณคดีบ้านเก่าเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2503-2505 และทำให้เกิดการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานประจำแหล่งโบราณคดีแห่งแรกขึ้น ต่อมามีการปรับปรุงจัดสร้างอาคารและการจัดแสดงเพิ่มเติมมาเป็นลำดับ
ใน พ.ศ. 2560 กรมศิลปากรเริ่มสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์หลังใหม่ ใช้หลักฐานและการศึกษาค้นคว้าใหม่ๆ มาเป็นตัวกำหนดการออกแบบอาคาร การจัดแสดงนิทรรศการและการออกแบบภูมิทัศน์ ซึ่งรูปทรงของอาคารได้แรงบันดาลใจมาจากหลุมขุดค้นทางโบราณคดี ภูมิทัศน์รอบอาคารออกแบบให้เชื่อมโยงกับเรื่องการเลือกตั้งถิ่นฐานของผู้คนในอดีต และยังเชื่อมโยงไปยังหลุมขุดค้นทางโบราณคดี รวมถึงศูนย์ศึกษาวัฒนธรรมบ้านเก่าที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เมื่อการดำเนินการปรับปรุงทั้งหมดแล้วเสร็จ จึงเปิดให้เข้าชมตั้งแต่ พ.ศ. 2565

















นำเสนอแผนผังลำดับวิวัฒนาการของมนุษยชาติ ตามลำดับเวลาแต่ละสถานที่ตั้งแต่ 65 ล้านปีที่แล้ว เมื่อครั้งไดโนเสาร์สูญพันธุ์กระทั่งกำเนินมนุษย์และลำดับเวลายุคก่อนประวัติศาสตร์ถึงยุคแรกเริ่มประวัติศาสตร์ในประเทศไทย



นิทรรศการชั้นที่ 1
จัดแสดงเรื่องราวการค้นพบเครื่องมือหินอันเป็นจุดเริ่มต้นและบุกเบิกงานโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย ประวัติการก่อตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า และเรื่องราวของชุมชนบ้านเก่าในปัจจุบัน รวมทั้งเรื่องภูมิศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ยุคแรกบริเวณลุ่มน้ำแควน้อย-แควใหญ่
นิทรรศการชั้นที่ 2
นำเสนอความหมายของวัฒนธรรมบ้านเก่า การดำเนินงานทางโบราณคดีของแหล่งโบราณคดีบ้านเก่า วิถีชีวิตและวัฒนธรรมผ่านโครงกระดูกมนุษย์ เครื่องปั้นดินเผา เครื่องมือ เครื่องใช้และครื่องประดับที่พบจากแห่งโบราณคดีบ้านเก่า นอกจากสะท้อนภาพของความเป็นอยู่ของผู้คนในพื้นที่บ้านเก่ายุคก่อนประวัติศาสตร์แล้ว ยังเชื่อมโยงให้เห็นถึงผู้คนในพื้นที่อื่นๆ บนดินแดนประเทศไทยที่ร่วมสมัยเดียวกันอีกด้วย
นิทรรศการชั้นที่ 3
จัดแสดงเรื่องราวของผู้คนในช่วงที่มีการใช้เครื่องมือโลหะ ทั้งสำริดและเหล็กในภูมิภาคตะวันตก งานศิลปกรรมภาพเขียนสีบนผนังถ้ำของผู้คนในยุคนั้น และวัฒนธรรมโลงไม้อันเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นพิธีกรรมการการฝังศพอีกแบบหนึ่งของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ ไปจนถึงเรื่องราวในช่วงวัฒนธรรมทวารวดี และในสมัยวัฒนธรรมเขมรโบราณในจังหวัดกาญจนบุรี
ข้อมูลท่องเที่ยว
- ชื่อ : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า
- เปิด : วันพุธ – วันอาทิตย์ เวลา 09.00 น. – 16.00 น.
- ค่าเข้าชม : ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 50 บาท
- โทร. 034-540 671-2
การเดินทาง
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเก่า อยู่ห่างจากตัวเมืองกาญจนบุรี ประมาณ 35 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 323 จากนั้นเลี้ยวซ้ายทางหลวงหมายเลข 3229 แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 3455 ไปประมาณ 3 กิโลเมตร เลี้ยวเข้าทางวัดท่าโป๊ะประมาณ 1 กิโลเมตร