พิพิธภัณฑ์สงครามอักษะและเชลยศึก
อ.เมือง จ.กาญจนบุรี
พิพิธภัณฑ์สงครามอักษะและเชลยศึก มีชื่อภาษาอังกฤษว่า THE JEATH WAR MUSEUM ต่อมาเป็นที่รู้จักกันสำหรับชาวต่างประเทศว่า WAR MUSEUM หรือพิพิธภัณฑ์สงคราม
เหตุที่ใช้ชื่ออย่างนี้ เนื่องจากพิพิธภัณฑ์นี้เป็นที่เก็บรวบรวมเอกสาร หลักฐานภาพเขียน ภาพถ่าย ตลอดจนเครื่องใช้สอยต่างๆ อันเกี่ยวกับเหตุการณ์สร้างทางรถไฟสายมรณะกาญจนบุรี-พม่า ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2

เป็นที่ประจักษ์ตามหลักฐานว่าในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นได้เกณฑ์เชลยศึกเข้าสู่กาญจนบุรีเพื่อสร้างทางรถไฟจากหนองปลาดุกมุ่งตรงไปทางตะวันตกของกาญจนบุรี อันเป็นแนวชายแดนติดกับพม่า เชลยศึกส่วนใหญ่มาจาก 3 ประเทศ คือ อังกฤษ ออสเตรเลีย ฮอลแลนด์(เนเธอแลนด์) และบางส่วนจากอเมริกา
ดังนั้นชื่อพิพิธภัณฑ์จึงตั้งข้นเพ่อเป็นเกียรติแก่เชลยศึกจากประเทศเหล่านั้นที่ต้องสังเวยชีวิตเพราะการสร้างทางรถไฟสายนี้กว่า 16,000 คน จนกระทั่งทางรถไฟสายนี้ได้รับการขนานนามจากบรรดาเชลยศึกว่า THE DEATH RAIL WAY หรือทางรถไฟสายมรณะ
กล่าวคือคำว่า JEATH อันเป็นชื่อพิพิธภัณฑ์นั้นมาจากคำย่อของคำว่า
- Japan (J) คือ ญี่ปุ่น ในฐานะที่เป็นกองทัพควบคุมเชลยศึกสงครามสร้างทางรถไฟ
- England (E) คือ อังกฤษ
- Australia, America (A) คือ ออสเตรเลียและอเมริกา
- Thailand (T) คือ ไทย ในฐานะที่เป็นเจ้าของประเทศ
- Holland (H) คือ ประเทศฮอลแลนด์

ลักษณะของพิพิธภัณฑ์
พิพิธภัณฑ์ เป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ซึ่งเก็บรวบรวมภาพถ่าย ภาพเขียนและบทความเกี่ยวกับการสร้างทางรถไฟ ซึ่งเริ่มจากหนองปลาดุก จังหวัดราชบุรี ผ่านเข้าสู่จังหวัดกาญจนบุรี และเข้าสู่ชายแดนประเทศพม่าที่อำเภอสังขละบุรี รวมระยะทาง 263 กม. ในเขตไทย และอีก 152 กม. ในเขตพม่า รวมระยะทาง 415 กม.
เส้นทางรถไฟทั้ง 2 ตอนนี้ เริ่มสร้างางเขตไทย เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2485 จึงถึงเดือนพฤศจิกายน 2486 ทางก็บรรจบกันที่อำเภอสังขละบุรี กองทัพจักรพรรดิ์ญี่ปุ่นได้ฉลองสะพานและทางรถไฟสายนี้เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2486
ในการสร้างทางรถไฟสายนี้ กองทัพญี่ปุ่นได้เกณฑ์ชาวออสเตรเลีย อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ ฯลฯ เกือบ 30,000 คน และคนงานท้องถิ่นจากประเทศ จีน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย อินเดีย เกือบ 100,000 คน ให้ทำงานก่อนสร้างทางรถไฟสายนี้อย่างเร่งรีบและเสร็จในระยะเวลา 16 เดือน
เชลยศึกต้องสังเวยชีวิตให้กับการสร้างทางรถไฟสายนี้ 16,000 คน และคนงานท้องถิ่นจากประเทศต่างๆ เกือบ 100,000 คน เนื่องจากต้องผจญภัยกับไข้ป่านานาชนิดความโหดร้ายของธรรมชาติป่าดงดิบ ความขาดแคลนอาหาร ยารักษาโรค และการทำงานหนักอย่างหามรุ่งหามค่ำ จนกระทั่งทางรถไฟสายนี้ถูกเปรียบเทียบไว้ว่า “ไม้หมอนแต่ละท่อนตลอดทางรถไฟสายนี้เท่ากับชีวิตของเชลยศึกและคนงานที่ต้องล้มตายลงจากการสร้างทางรถไฟนี้ทีเดียว”

การจัดแสดง
อาคารพักเชลยศึก
ส่วนที่ 1 คือ อาคารจำลองที่พักเชลยศึก ท่านจะได้เห็นลักษณะของอาคารค่ายพักซึ่งเชลยศึกต้องพักอยู่ร่วมกันและถูกกักกันในระหว่างการก่อสร้างทางรถไฟ เป็นอาคารที่ใช้ไม้ไผ่ทั้งหมด หลังคามุงจาก ฝาขัดแตะด้วยไม้รวก ด้านในยกพื้นขี้นฟ้าปูด้วยฟากไม้ไผ่ ซึ่งใช้เป็นที่สำหรับนอนของพวกเชลย
ส่วนที่ 2 คือ ภาพถ่าย ภาพเขียน ที่แสดงถึงชีวิตความเป็นอยู่ของเชลย ในขณะที่สร้างทางรถไฟว่า ได้รับความลำบากขนาดไหน
สภาพความเป็นอยู่ของเชลยศึก
ภาพถ่าย เป็นภาพถ่ายที่ถ่ายมาจากเหตุการณ์ครั้งสร้างทางรถไฟจริงๆ ที่ถ่ายไว้โดยคุณบุญผ่อง สิริเวชชะพันธ์บ้างและถ่ายโดยเชลยศึกสมัยนั้นบ้าง
ภาพเขียน เป็นภาพที่เขียนมาจากเหตุการณ์จริงๆ โดยเชลยศึกเช่นเดียวกัน แต่ได้นำมาเขียนใหม่
ส่วนที่ 3 คือ เครื่องใช้ไม้สอยของเชลยศึกที่ได้นำมาแลกกับอาหารและผลไม้ไว้กับคนไทย เมื่อขาดแคลนอาหารโดยได้รับมอบจากผู้มีจิตศรัทธาเพื่ออนุรักษ์ไว้ นอกจากนี้ยังมีอาวุธปืน ระเบิด และอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ เช่น หมวก รองเท้า ช้อนส้อม มีด ฯลฯ
อนุสาวรีย์ลูกระเบิด

ลักษณะของอาคาร
หลายท่านที่มาชมโดยเฉพาะคนไทย มักจะถามว่าน่าจะสร้างเป็นอาคารถาวร เพื่อจัดแสดง น่าจะเป็นอาคารที่โอ่โถงแบบพิพิธภัณฑ์ทั่วไป ทางวัดน่าจะหาผู้บริจาค หรือขอเงินช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐ
สาเหตุที่ทางวัดไม่จัดสร้างอาคารถาวรนั้น เพราะเหตุว่าต้องการจำลองลักษณะของค่ายกักกันเชลยศึกจริง ว่าในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มีลักษณะอย่างไร ลักษณะรูปทรงของค่ายทหารญี่ปุ่นที่ใช้ควบคุมเชลยศึกมีลักษณะอย่างไร ดังจะเปรียบเทียบดูได้จากภาพถ่ายที่จัดแสดงไว้
หากจัดสร้างอาคารถาวรจะไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร เพราะชาวต่างประเทศส่วนใหญ่ที่มาชม พวกเขาต้องการมาดูลักษณะของค่ายสมัยสงครามโลก ไม่ใช่มาชมอาคารแบบใหม่ที่บ้านเมืองเขามีมาก
อนุสรณ์สถานแห่งนี้ ไม่ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อดำรงความเกลียดชัง ระหว่างมนุษยชาติให้คงอยู่นานเท่านาน ดังเช่นทรากสงคราม แต่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ถูกจัดสร้างขึ้นเป็นบทเรียนแก่มนุษยชาติว่า “สงครามได้ก่อความสูญเสียให้ทั้งฝ่ายแพ้และฝ่ายชนะเท่าๆ กัน”
ขอสันติภาพจงอยู่คู่โลก และความรุนแรงจงพ่ายแพ้ต่อสันติในทุกๆ ที่


ประธานมูลนิธิสันติภาพแม่น้ำแคว
อดีตนายทหารล่ามญี่ปุ่น สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
ด้วยความปรารถนาดี
พระมหาทอมสันต์ จนฺทสุวรณฺโณ
*จากหนังสือ The Thailand to Burma Railway by G.P. Adams
แต่จากหนังสือ A Short history of The Burma-Siam Railway ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่งกล่าวไว้ว่า ทางรถไฟ 415 กม. – 304 กม. ในเขตไทย และ 111 กม.ในเขตพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยว
- เปิด 8.30 – 16.30 น. ทุกวัน
- ค่าเข้า : ต่างชาติ 50 บ. คนไทย10 บ. (ยกเว้นหรือลดค่าเข้ากับผู้ที่เข้าชมเป็นกลุ่มคณะที่มีหนังสือแจ้งให้ทราบเป็นทางการ)
- ทีตั้ง : อยู่ริมน้ำใกล้กับวัดไชยชุมพล ชนะสงคราม
ติดต่อสอบถาม
- ททท.สำนักงานกาญจนบุรี โทร. 0-3451-1200, 0-34512-800
- สนง.การท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดกาญจนบุรี โทร. 034 520 335
แผนที่
ผู้สนับสนุนการเก็บข้อมูล
คุณสาวินี สักการะ