วัดถ้ำมังกรทอง

อ.เมือง จ.กาญจนบุรี

วัดถ้ำมังกรทอง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของกาญจนบุรี บันไดขึ้นถ้ำประมาณ 100 ขั้น ราวบันไดเป็นมังกรทองและมังกรแก้ว เรื่องเล่าของถ้ำที่มีประวัติตั้งแต่สมัยสงครามไทย-พม่า ราวสมัยกรุงศรีอยุธยา นอกจากเรื่องราววัดที่น่าสนใจ สิ่งที่ทำให้วัดแห่งนี้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักถึงต่างประเทศคือ แม่ชีลอยน้ำ เป็นจุดหมายปลายทางที่ไม่ควรพลาด และวัดยังอยู่ระหว่างทางที่จะไป “ต้นจาจุรียักษ์” ทำให้เราสามารถแวะเที่ยวได้ทั้งสองที่เลย

 

ทางขึ้นซ้ายขวาเป็นราวบันไดมังกร (ต่างจากหลายวัดที่เป็นพญานาค) สร้างเมื่อ พ.ศ.2449 เสร็จปี พ.ศ. 2452 โดยก๋งแปะเป็นผู้ออกแบบมังกรขึ้น โดยมังกรขวามือทางลงชื่อมังกรทอง ซ้ายมือชื่อมังกรแก้ว ในสมัยนั้นเป็นที่เลื่องลือของชาวกาญจนบุรี ได้เดินทางเพื่อมาเยี่ยมชมกันมากขึ้น

 

เมื่อขึ้นบันไดกว่าร้อยขั้นก็จะได้พบกับ พระสีวลีถือตาลปัตร คำบอกเล่าว่าสร้างไว้ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3

 

พระสีวลีถือตาลปัตร คาดว่าสร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3  พระสีวลีเถระเป็นเจ้าชายในโกลิยวงศ์ ออกบวชในสำนักพระสารีบุตร บรรลุพระอรหันต์ในขณะที่ปลงเกศานั่นเอง และหลังจากผนวช ท่านเป็นผู้มีลาภสักการะมากด้วยกุศลกรรมที่ทำมาแต่อดีต ด้วยเหตุนี้ท่านจึงได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ให้เป็นเอตทัคคะผู้เลิศในทาง ผู้มีลาภมาก

 

จากปากทางเข้าถ้ำจะพบกับห้องทางซ้ายมือ จากรูปคือประตูสีเขียวเป็นห้องประดิษฐานหลวงพ่อใหญ่ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อายุกว่า 100 ปี

 

หลวงพ่อใหญ่ อายุกว่า 100 ปี สร้างโดยชาวจีนและร่วมด้วยชาวตลาดจังหวัดสมุทรสงคราม เป็นพระเสี่ยงทายมาโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า เดินทางมาทางเรือ (อ่านเพิ่มเติมด้านล่าง)

 

เมื่อออกจากห้องหลวงพ่อใหญ่สู่ห้องโถง คุณสามารถเข้าถ้ำซึ่งทางเข้าอยู่หลังพระพุทธรูป

 

ปากทางเข้าถ้ำจะมีขนาดเล็กต้องคลานเข้าไป และเดินด้วยเท้าเปล่า

 

เมื่อผ่านช่องทางเข้าแคบๆ มาได้ ก็จะเจอกับห้องนี้ซึ่งถือกันว่าเป็นท้องมังกร ถ้าได้ผ่านห้องนี้ไปเชื่อว่าจะเป็นศิริมงคล

 

ทางออกท้ายถ้ำต้องปีนบันไดสูงประมาณ 3 เมตร

 

ทางออกถ้ำจะเป็นช่องแคบ คนตัวใหญ่จะลำบากหน่อย

 

เมื่อออกจากถ้ำให้ไปตามทางเดินทางซ้ายมือ เพื่อกราบไหว้พระอาจารย์ติ้ว

 

ผู้ก่อตั้งสำนักสงฆ์ และเป็นวัดถ้ำมังกรทองในปัจจุบัน ท่านเป็นคนเชื้อสายจีนไหหลำ พูดไทยไม่ชัด  เมื่ออายุ 30 ปี ท่านเดินธุดงธ์จากกรุงเทพมายังกาญจนบุรี เมื่อราวปี พ.ศ. 2473  และปฏิบัติธรรมที่ถ้ำแห่งนี้เป็นต้นมา

 

จากการสังเกตุภายในวัดถ้ำมังกรทองจะเห็นศิลปะไทยและจีนผสมผสานกัน เช่น มีศาลาเป็นทรงไทยแต่ราวบันไดเป็นมังกรแทนที่จะเป็นพญานาคเหมือนวัดไทยทั่วไป

 

แม่ชีลอยน้ำ

         เป็นที่เลื่องลือไปทั่วโลกว่าวัดถ้ำมังกรทอง มีแม่ชีลอยน้ำได้ จึงกลายเป็นจุดสนใจของนักท่องเที่ยวทั่วไป  จะเดินทางมาชมกันทุกวัน โดยเฉพาะชาวจีน ชาวใต้หวัน จะเดินทางมาชมในช่วงค่ำทุกวัน

แม่ชีลอยน้ำนั้น เริ่มมาจาก มีแม่ชีคนหนึ่งชื่อแม่ชีทองสุข ศรีประกอบ สามารถอธิษฐานจิตลอยน้ำนั่งสมาธิในน้ำ เดินในน้ำ นอนในน้ำ โดยที่ไม่จม ตอนแรกๆ ก็ไปลอยที่ริมแม่น้ำแควน้อย ห่างจากวัดประมาณ 1 กม. ทำให้ลำบากต่อการเดินทาง เมื่อมีคนจะชมก็ต้องเดินทางไปที่ท่าน้ำ พระครูพิพัฒน์สิทธิสาร เจ้าอาวาสวัดถ้ำมังกรทองในขณะนั้นจึงอนุญาตให้ขุดสระภายในวัดเพื่อให้แม่ชีทองสุขได้ลอยน้ำให้คนชม และก็ทำให้มีผู้ชมมากขึ้นทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ

รูปปั้น แม่ชีทองสุข ศรีประกอบ  แม่ชีคนแรกที่ลอยน้ำ เมื่อสิ้นบุญของแม่ชีทองสุขแล้ว ก็มีลูกศิษย์ได้รับการถ่ายทอดวิชาลอยตัวต่อๆ กันมาจนถึงปัจจุบัน และคุณแม่ลดาวัลย์ (คนซ้ายมือในรูป)ได้บวชเป็นชีพราหมณ์และเป็นหนึ่งในลูกศิษย์ที่สืบทอดวิชาลอยตัวบนน้ำ

ลักษณะการลอยนั้นมีหลายท่า  มีท่านอน นั่งสมาธิ เดินจงกลม

ท่ายืนลอยตัวจะเป็นท่าที่ยากที่สุด เมื่อสอบถามว่าเหตุใดจึงสามารถลอยตัวในน้ำ ได้คำตอบมา 2 ข้อคือ 1. เป็นความสามารถเฉพาะบุคคล 2. เกิดจากการฝึกฝน ฝึกสมาธิ ฝึกจิตภาวนา

ค่าเข้าชม 10 บาท/คน

 


 

ข้อมูลจาก : หนังสือพระราชทานเพลิงศพ พระครูอุโฆษกาญจนกิจ (บรรเทา ปนาโท)

ประวัติวัดถ้ำมังกรทอง

หมู่ 7 ตำบลเกาะสำโรง อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี

        ตั้งอยู่ในทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองกาญจนบุรีปัจจุบัน  ระยะเส้นทางราวประมาณ 5 กิโลเมตร มีทั้งทางบกและทางเรือผ่าน ณ บริเวณสถานแห่งนี้มีภูเขาล้อมรอบด้านเทือกเขาทิศตะวันออกติดต่อไปยังบ้านถ้ำ  แนวตำบลเขาน้อย  อำเภอท่าม่วง ไปท้ายสุดที่ถ้ำแก้ว  แล้วด้านหลังมายังหัวเขาแรด  หน้าเขาแดง มาบรรจบกองผสมสัตว์ที่ 1 บ้านเขาตก  ติดลำน้ำแควน้อยเลียบไหลผ่าน เขตทิศใต้
เดิมบริเวณสถานที่แห่งนี้ มีป่าไม้ไผ่อยู่หนาแน่น  และมีป่าไม้ดงรังอยู่รอบบริเซณ  ด้านหน้ามีหุบเขาลึกเข้าไป  มีร่องน้ำป่าไหลผ่านด้านหน้าถ้ำ เนื้อดินดำ มีน้ำพุ(น้ำทรัพย์) ไหลอยู่หน้าผาเลียบฝั่งเขา ในช่วงฤดูฝนเหมาะในการเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิดมาก  เช่น ฝูงลิงขนาดนับร้อย(ฝูงใหญ่) กระต่าย งูเหลือมเสือ กระรอกดง เลียงผา ไก่ป่า ไก่ฟ้า เม่น อีเห็น เต่าเขา ฝูงนกมากมายนานาชนิด

ถ้ำแห่งนี้เดิมเรียกกันว่า “ถ้ำไฟไหม้” โดยมีเรื่องราวที่เล่าต่อกันมานานแสนนานถึงถ้ำแห่งนี้ ครั้งสมัยสงครามไทย-พม่า  สมัยกรุงศรีอยุธยาครั้งราวประมาณ พ.ศ. 2081 เป็นต้นมา  เมืองกาญจนบุรี เป็นเมืองหน้าด่านของศึกสงครามไทย-พม่า

มาครั้งสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตรงกับแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 จากผู้ที่เล่ากันมาว่า สมัยครั้งสร้างประตูเมือง เพราะเดิมแผ่นดินทัพพม่า มุ่งสู่ยังเมืองกาญจนบุรีเก่า(เขาชนไก่) สู่ยังทุ่งลาดหญ้า มาระยะหลังหลังพม่าได้เปลี่ยนแผนในการเดินทัพ โดยอาศัยลำน้ำแควน้อย

มายังครั้งนั้น ณ บริเวณถ้ำแห่งนี้ ได้มีคนไทยมากมายหลบหนีภัยสงครามทั้งชายหญิงเด็กเล็ก  ในการอาศัยถ้ำแห่งนี้  ด้วยด้านหลังเขาเป็นเขตเขาตก  ซึ่งมีลำน้ำแควน้อยเลียบติดฝั่งเขา  ผู้คนที่หลบภัยอยู่ต้องอาศัยน้ำกินเมื่อออกมาหาอาหารและน้ำ ทหารพม่าพบเข้าจึงได้สะกดรอยเท้ามายังถ้ำแห่งนี้จึงได้รู้ว่าคนไทยมากมายหลบซ่อนอยู่ภายในถ้ำแห่งนี้

ช่วงของตอนกลางคืน พม่าได้ทำศึกปิดปากถ้ำ แล้วเผากองไฟอยู่หน้าถ้ำ จึงทำให้ควันไฟเข้าไปในถ้ำ ทำให้ผู้คนภายในถ้ำล้มตายเกลื่อนกลาดไปทั่วถ้ำแห่งนี้  จากการค้นพบหลักฐานโครงกระดูกมากมาย  มีทั้งผู้หญิงและเด็ก กำไลข้อเท้าเด็ก กำไลข้อมือคนใหญ่ เครื่องประดับลูกกำปัด แหวนนิ้วมือ หลักฐานทั้งหมดบ่งบอกถึงความเป็นมานั่นคือคนไทย(เด็กคงไม่เดินทัพแน่ถ้าคิดว่าเป็นพม่า) จากความหวาดกลัว จึงเป็นที่เลื่องลือกันไปทั่วถึงยังถ้ำไฟไหม้แห่งนี้ และกลายเป็นถ้ำที่ร้างมานานแสนนานสืบต่อมา

ระยะเวลาหลายสิบปีต่อมา  บริเวณสถานที่แห่งนี้ ได้มีผู้ที่มาตัดไม้ไผ่มาอาศัยอยู่ ปลูกบ้านโรงไม้ไผ่ยกระดับพื้นสูง  ตามแนวลำน้ำแควน้อยอยู่ 5 หลังคาเรือนที่มุงด้วยหญ้าคา  ถัดจากเขาตกเป็นต้นมา  เพราะอยู่ในช่วงของป่าไม้ยังสมบูรณ์อยู่ เสือป่าชุมจึงยกระดับพื้นบ้านให้สูง

หมู่บ้านนี้จึงมีคนรู้จักว่าหมู่บ้าน 5 หลัง  สภาพดินฟ้าอากาศช่วงฤดูฝน จะมีฝนตกติดต่อกันนานเป็นราวเดือน น้ำป่าไหลแรง  มีหมอกปกคลุมช่วงเช้าฤดูหนาวจะหน่านานติดต่อกันและหนาวมาก น้ำค้างค่ำคืนจะแรง มีหมอกหนาตามไหล่เทือกเขา และแนวลำน้ำแควน้อย

สภาพป่าหน้าถ้ำแห่งนี้ มีต้นมะขามป่า ม่ะม่วงป่า อยู่มากมายหน้าถ้ำแห่งนี้ เลียบฝั่งเขาหนาทึบด้วยดงสะแก กอไผ่ป่า ดงรัง ช่วงฤดูฝนมีน้ำผ่าไหลหลากหน้าถ้ำเสียงน้ำป่าปะทะกับเสียงลมดังสนั่นหวั่นไหว เมื่อมีหมู่บ้านที่มีอาชีพตัดไผ่ล่องแพ สภาพป่าเริ่มเปลี่ยนไป จากป่าไม้ไผ่กลายเป็นป่าโปร่ง ต่อมาชาวบ้านแห่งนี้ได้เริ่มมีการเพาะปลุก และทำนาข้าวหว่านอยู่ใกล้ฝั่งเขา และพืชไร่ล้มลุก ไร่มัน ฟักทอง ข้าวโพด หมุนเวียนตามฤดูกาล

เมื่อปี พ.ศ. 2473  ได้ประกาศแต่งตั้งสำนักสงฆ์ขึ้นเป็นวัดมีนามว่า “วัดถ้ำมังกรทอง” อยู่หมู่ที่ 5 เขาตก ตำบลเกาะสำโรง อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี มีพระสงฆ์ทั้งหมด 8 รูป เณรไม่มี มีพระอาจารย์ติ้ว เป็นเจ้าอาวาสโดยมีเนื้อที่เขตธรณีสงฆ์ 36 ไร่ นับจากนัันหลวงปู่ติ้วจึงได้แกะสลักไม้แขวนท้ายมังกรด้านหน้าถ้ำว่า “วัดถ้ำมังกรทอง” แต่ชาวบ้านเรียกกันติดปากกันมาว่า “วัดถ้ำ” เป็นรู้กันว่าวัดถ้ำมังกรทอง คือที่แห่งเดียวกัน ต่อมาไม่นานพระอาจารย์ติ้วก็เริ่มป่วยด้วยโรคเก่าที่เคยเป็นมา  และได้มรณะภาพ ณ ถ้ำแห่งนี้ในปี 2477 ด้วยความดีของพระอาจารย์ติ้ว หลวงปู่เปลี่ยน จึงได้รับศพไปทำพิธีที่ศาลาวัดไชยชุมพลชนะสงคราม(วัดใต้) โดยขอรับเป็นเจ้าภาพ หากทำพิธีที่วัดถ้ำฯ แห่งนี้ซึ่งไม่สะดวกในการเดินทางเรือของศิษยานุศิษย์ของพระอาจารย์ติ้ว หลวงปู่เปลี่ยนจึงได้ขอให้ก๋งแปะ 2 คน ที่มาเป็นช่างก่อสร้าง อยู่ประจำวัดแห่งนี้เรื่อยมา  การจากไปของพระอาจารย์ติ้ว สร้างความโศกเศร้าให้กับชาวบ้านเป็นอย่างมาก

พระอาจารย์ติ้วได้ปรับพื้นที่ภายในถ้ำและสร้างปูนกั้นห้องพระปฏิบัติกรรมฐาน 2 ห้อง บ่อน้ำภายในถ้ำโบกปูนแล้วเสร็จ และสร้างศาลาทรงไทย 1 หลัง โดยใช้เสาไม้ขนาดลำต้น เครื่องบนใช้ไม้สลักทั้งหลัง มุงด้วยกระเบี้องแผ่นเหล็ก ใช้เป็นศาลาทำบุญในวันพระ  และยังใช้เป็นศาลาเรียนสำหรับเด็ก  เรียกว่าเรียนวัดในสมัยนั้น โดยมีพระเป็นครูสอน มีนักเรียนมาเรียนหลายหมู่บ้าน รวมเป็นชั้นเดียวกันราวประมาณ 20 คนเศษ  ศาลาทรงไทยยังไม่แล้วเสร็จท่านก็มามรณะภาพเสียก่อน

หลังจากนั้นมาหลวงปู่เปลี่ยน ได้ส่งพระมารักษาการจากวัดไชยชุมพลชนะสงคราม (วัดใต้) มีนามว่าพระอธิการบุญนาคมาจำพรรษาอยู่ยังวัดถ้ำมังกรทอง มีพระจำพรรษารวมราวประมาณ 6 องค์ วัดนี้ยังไม่เคยมีพระถึง 10 รูปและสามเณรยังไม่เคยมี  และช่างก่อสร้างประจำอยู่ 2 คน อาศัยอยู่ภายในถ้ำแห่งนี้  ช่วงของวันพระและเสาร์-อาทิตย์ จะมีผู้มาเยือนหรือมาแวะชมมังกรและนมัสการหลวงพ่อใหญ่ หลวงพ่อบ้านแหลม

 

 

ประวัติหลวงพ่อใหญ่

สร้างขึ้นโดยชาวจีนและร่วมด้วยชาวตลาด  จังหวัดสมุทรสงคราม  เป็นพระประธานองค์ใหญ่  เป็นพระเสี่ยงทายมาโดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า  เดินทางมาด้วยทางเรือ และชาวเมืองกาญจน์มามากมายในการต้อนรับพระประธาน ทุกคนต่างอยากพบเห็นพระที่มีขนาดใหญ่  เมื่อมาถึงยังท่าจอดเรือทางสำนักสงฆ์ได้เชิญประทับเกวียนมายังหน้าถ้ำ  แล้วเตรียมจัดแท่นไม้โพง  เมื่อประทับแท่นใช้คนมากมายนำขึ้นราวไม้ที่ทำไว้  ห่างจากราวบันไดประมาณ 2 เมตรเศษ

หลวงพ่อใหญ่ไม่ยอมขึ้น  ทำอย่างไรก็แล้ว พอดีองค์ประทับทรงบอกหลวงพ่อใหญ่ต้องการขึ้นราวบันไดที่มีมังกร  ทันใดก็ได้จุดธูปบอกเจ้าที่ป่าเขาที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ได้รับทราบ  แล้วสิ่งที่ทุกคนคิดไม่ถึงก็ได้เกิดขึ้น  โดยย้ายมาขึ้นราวบันไดเพียงใช้คนนำขึ้น 4 คนเท่านั้น

นับจากนั้นเป็นต้นมา พระประธานหลวงพ่อใหญ่จึงได้ประจำอยู่ถ้ำแห่งนี้เป็นต้นมา  ชาวบ้านต่างพากันเคารพนับถือหลวงพ่อใหญ่  ต่อมาก็ได้มีผู้มีจิตศรัทธานำหลวงพ่อบ้านแหลมมาถวาย พระอาจารย์ติ้วจึงสร้างฐษนพระภายในถ้ำสำหรับพระทำวัดเช้าเย็น และได้สร้างห้องพระมีประตูเป็นลายรูปจีนด้านหน้ากำแพงประตูทางเข้า

 

ติดต่อสอบถาม

  • ททท.สำนักงานกาญจนบุรี โทร. 0-3451-1200, 0-34512-800
  • สนง.การท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดกาญจนบุรี โทร. 034 520 335

แผนที่

นอกจากเดินทางโดยทางถนนแล้ว ยังสามารถล่องเรือมาตามแม่น้ำแควน้อยได้ด้วย