วัดท่าขนุน

ต.ท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี

วัดท่าขนุนหรือชาวอำเภอทองผาภูมิรู้จักกันในชื่อวัดหลวงปู่สาย เป็นวัดที่มีความสำคัญของชาวไทยเชื้อสายมอญ เมียนมา และกะเหรี่ยง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นปูชนียสถานสำคัญภายในวัด คือ พระอุโบสถคอนกรีตเสริมเหล็ก พระเจดีย์ 80 พรรษา พระพุทธเจติยคีรี ซึ่งเป็นเจดีย์ศิลปะพม่า สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2534 โดยหลวงปู่สาย ตั้งอยู่บนยอดเขาอันเป็นจุดชมวิวของอำเภอทองผาภูมิและ สะพานแขวนหลวงปู่สาย ซึ่งเป็นสะพานไม้ สร้างโดยหลวงปู่สาย เพื่อให้ญาติโยมข้ามแม่น้ำมาทำบุญที่วัด

ประวัติวัด

วัดท่าขนุน อยู่ตำบลท่าขนุน เดิมเป็นที่ดินของตระกูลนกเล็ก ได้ถ่ายหลวงปู่พุกเพื่อสร้างเป็นวัดท่าขนุนในปี พ.ศ. 2573 เมื่อหลวงปู่พุกมรณภาพ พระอาจารย์ไตแนม ซึ่งเป็นชาวกะเหรี่ยงได้เป็นเจ้าอาวาส ได้บูรณะพัฒนาวัดโดยสร้างมณฑป และรอยพระพุทธบาท เมื่อท่านมรณภาพ วัดท่าขนุนจึงเป็นวัดร้างอยู่ระยะหนึ่งจนกระทั่งหลวงปู่สาย อคควโส (พระครูสุวรรณเสลาภรณ์) ธุดงค์จากนครสวรรค์มาปักกลดที่วัดแห่งนี้ชาวบ้านเลื่อมในศรัทธาจึงนิมนต์ให้อยู่จำพรรษา และท่านได้พัฒนาจนเป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่งในอำเภอทองผาภูมิ หลวงปู่สาย อคควโส ได้มรณภาพลง พระราชธรรมโสภณ รักษาการเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรีได้ให้พระครูธรรมธร(เล็ก สุธมฺมปญฺโญ) มาพัฒนาวัดท่าขนุน ภายในวัดประดิษฐษนธรรมาสน์ทรงบุษบกซึ่งพระบาทสมเด็กพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระราชทานให้แก่วัดท่าขนุน เมื่อปี พ.ศ.2473 ทำด้วยไม้แกะสลักทั้งหลัง ถอดได้ทุกชิ้น พระพุทธรูปรัชกาล ศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนปลาย ขนาดหน้าตัก 1 ศอก จำนวน 2 องค์ พระองค์หญิงอรประพันธรำไพ พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงถวายหลวงปู่พุก อุตฺตมปาโล เมื่อครั้งเสด็จประพาสป่าทองผาภูมิในสมัยรัชกาลที่ 7 และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นวัตถุของกรมศิลปากรทั้ง 2 องค์ นอกจากนี้หลวงปู่สาย อคควโส ได้สร้างพระพุทธเจติยคีรี เมื่อปี พ.ศ. 2534 เป็นพระเจดีย์ศิลปะเมียนมา และเป็นจุดชมทิวทัศน์อยู่บนยอดเขาสามารถชมทัศนียภาพความเขียวขจีของป่าไม้โดยรอบอำเภอทองผาภูมิ

วัดท่าขนุนสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2473 มีเนื้อที่ 59 ไร่ 2 งาน 30 ตารางวา วัดท่าขนุนได้ชื่อตามเมืองด่านท่าขนุน สมัยนั้นการสัญจรส่วนมากไปทางเรือที่ล่องตามลำน้ำแควน้อย จุดที่ตั้งของเมืองด่านท่าขนุนเป็นท่าเรือ มีที่หมายสำคัญคือมีต้นขนุนอยู่หลายต้น จึงเรียกกันง่าย ๆ ว่า “ท่าขนุน” จนกลายเป็นชื่อบ้านนามเมืองตั้งแต่นั้นมา

พระพุทธรูปรัชกาล
ขนาดหน้าตัก ๑ ศอก ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว(ร.7) พระราชทานให้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรประพันธรำไพ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอดิศัยสุริยาภานำมาถวายแก่หลวงปู่พุก อุตฺตมปาโล เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒
ธรรมาสน์ทรงบุษบก
ฝีมือช่างหลวง สร้างจากไม้แกะสลัก ถอดประกอบได้ทุกชิ้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรประพันธรำไพ และ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอดิศัยสุริยาภา นำมาถวายแก่หลวงปู่พุก อุตฺตมปาโล เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒
มณฑปไม้ทรงมอญ
สร้างขึ้นโดยหลวงพ่ออุตตะมะ และหลวงปู่เต๊อะเน็ง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ ซึ่งเป็นปีแรกที่หลวงพ่ออุตตะมะเข้ามาเมืองไทย เพื่อไว้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทสี่รอยจำลอง เมื่อสร้างเสร็จและจัดงานฉลองแล้ว หลวงปู่เต๊อะเน็งก็เดินทางกลับไปประเทศพม่า และไม่ได้กลับมาเมืองไทยจนกระทั่งมรณภาพ
มณฑปได้ทรุดโทรมลงตามกาลเวลา จนมาหมดสภาพ ถูกรื้อทิ้งในสมัยของพระอธิการสมเด็จ วราสโย ครั้นพระครูวิลาศกาญจนธรรมมาเป็นเจ้าอาวาส ได้ใช้เวลาในการเสาะหาช่างฝีมือและไม้เก่าอยู่ ๒ ปี จึงได้บูรณะกลับคืนมาเหมือนเดิมเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๔ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๗ รอบ (๘๔ พรรษา)
สังขารหลวงปู่สาย อคฺควํโส (พระครูสุวรรณเสลาภรณ์)
อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ ๓ มรณภาพเมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๓๕ เมื่อเก็บไว้ครบ ๑ ปี จะทำการพระราชทานเพลิงศพ จึงพบว่าสังขารของท่านไม่เน่าเปื่อย ทางคณะสงฆ์วัดท่าขนุน นำโดยพระอธิการสมเด็จ วราสโย จึงนำบรรจุไว้ในโลงแก้ว เพื่อให้คณะศิษย์ได้กราบไหว้บูชา
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕ พระครูวิลาศกาญจนธรรม ได้รับคำสั่งจากหลวงพ่อพระราชธรรมโสภณ รักษาการเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี ให้มาพัฒนาวัดท่าขนุน จึงได้เปลี่ยนจากโลงแก้วธรรมดา มาเป็นโลงแก้วประดับมุก
เมื่อบรรดาศิษยานุศิษย์มีเรื่องใดที่ต้องการให้สำเร็จ มักจะมาบนบานกับสังขารหลวงปู่ เมื่อได้รับผลแล้วจะแก้บนด้วยพวงมาลัย ๙ พวง จึงมีผู้นำพวงมาลัยมาแก้บนกันทุกวัน มีการเปลี่ยนผ้าครองถวายแก่หลวงปู่ทุกปี
พระพุทธบาทสี่รอยจำลอง
กว้าง ๕๘ ซ.ม. ยาว ๑๕๕ ซ.ม. หล่อขึ้นมาจากโลหะผสม (สัมฤทธิ์) ฝีมือประณีตงดงามมาก ไม่มีผู้ใดทราบว่าสร้างขึ้นในสมัยใด คาดว่าน่าจะมีอายุการสร้างหลายร้อยปี มีรอยผุที่ชายขอบด้านล่าง และธรรมจักรตรงกลางพระบาทซึ่งถอดได้หลุดหายไป
จนกระทั่งวันที่ ๒๖ – ๓๐ เมษายน ๒๕๕๕ พระครูวิลาศกาญจนธรรมและคณะ ได้เดินทางไปประเทศกัมพูชา ได้พบพระพุทธบาทสี่รอยจำลองลักษณะและวัสดุแบบเดียวกับของวัดท่าขนุนทุกอย่าง ตั้งให้สักการบูชาที่มณฑปพระพุทธบาทในพระราชวังเขมรินทร์
มัคคุเทศก์ได้ให้ข้อมูลว่า เป็นของเก่าแก่สร้างมาตั้งแต่สมัยพระนคร (นครวัด) เดิมมีอยู่สององค์ แต่สูญหายไปหนึ่งองค์ ไม่สามารถหาพบได้จนทุกวันนี้ พระครูวิลาศกาญจนธรรมจึงมั่นใจว่า รอยพระพุทธบาทวัดท่าขนุนเป็นรอยพระพุทธบาทที่สร้างขึ้นในสมัยนครวัดนั่นเอง
พระพุทธรูปสมเด็จองค์ปฐม หน้าตัก ๒๑ ศอก
สร้างขึ้นโดยพระครูวิลาศกาญจนธรรม ด้วยแม่แบบของพระครูไพโรจน์ภัทรคุณ วัดสระพัง อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ในวาระฉลอง ๒๖๐๐ ปีพุทธชยันตี เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล ในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมายุ ๘๐ พรรษา
ใต้ฐานพระพุทธรูปสมเด็จองค์ปฐม ๒๑ ศอก เป็นห้องสมุดขนาดใหญ่มีความกว้างถึง ๙๐๐ ตารางเมตร ด้านข้างห้องสมุดเป็นซุ้มจำหน่ายสินค้าของตลาดชุมชนวัดท่าขนุน นักท่องเที่ยวที่ผ่านไปผ่านมาแวะมาสักการบูชาและถ่ายรูปกันทุกวัน
สะพานแขวนหลวงปู่สาย
เป็นสะพานไม้ประกอบลวดสลิง หลวงปู่สาย อคฺควํโส สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๙ ข้ามแม่น้ำแควน้อย เชื่อมระหว่างฝั่งวัดท่าขนุนกับฝั่งตลาดทองผาภูมิ ทำให้สามารถร่นเวลาในการเดินทางเข้าสู่ตลาดทองผาภูมิไปได้เป็นอย่างมาก ปัจจุบันยังใช้งานอยู่เป็นปกติ โดยเฉพาะเป็นเส้นทางบิณฑบาตของพระภิกษุสามเณรวัดท่าขนุน
สะพานแขวนวัดท่าขนุน นับเป็นจุดท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของอำเภอทองผาภูมิ นักท่องเที่ยวนิยมมาถ่ายรูปกันมาก
พระพุทธเจติยคีรี
สร้างโดยหลวงปู่สาย อคฺควํโส เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๓๔ อยู่บนยอดเขาวัดท่าขนุน อันเป็นจุดชมทิวทัศน์ของอำเภอทองผาภูมิ เป็นพระเจดีย์ศิลปะพม่า มีพระเจดีย์รายองค์เล็กล้อมรอบอยู่อีก ๔ องค์ และยกเป็นซุ้มบรรจุพระพุทธรูปโดยรอบ ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

ข้อมูล และภาพ :
1.http://kanchanaburi.go.th/au/tourkan2015/thakhanun.php
2.https://www.watthakhanun.com/

ติดต่อสอบถาม

  • โทร.034 599 629 /089 815 2472
  • ททท.สำนักงานกาญจนบุรี โทร. 0-3451-1200, 0-34512-800
  • สนง.การท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดกาญจนบุรี โทร. 034 520 335

แผนที่

พิกัด : ต.ท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี