วัดบ้านถ้ำ
ต.เขาน้อย อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี
บันไดขึ้นถ้ำมี 269 ขั้น จากหัวนาคถึงมังกร 114 ขั้น จากปากมังกรถึงหาง 105 ขั้น เดินเข้าถ้ำ 50 ขั้น
หันมองด้านล่าง จากด้านหน้าหัวมังกร
หลวงพ่อใหญ่ชินราช ในถ้ำคูหามังกรสวรรค์ หรือถ้ำนางบัวคลี่ ด้านซ้ายมีปล่องเพดานส่องแสงสว่างให้แก่ถ้ำและถ่ายเทอากาศ
จุดชมวิวบนยอดเขา จากพื้นรวม 707 ขั้นบันได เบื้องหน้าคือแม่น้ำแม่กลอง
ถ้ำม่านวิจิตร อยู่เหนือถ้ำคูหามังกรสวรรค์ ทางลงจากปากถ้ำค่อนข้างแคบและเป็นแนวดิ่ง
วัดบ้านถ้ำ
พิสูจน์แรงศรัทธา ขึ้นบันได 269 ขั้น สักการะบูชาหลวงพ่อชินราช(หลวงพ่อใหญ่)ในถ้ำคูหามังกรสวรรค์ วัดบ้านถ้ำ ต.เขาน้อย อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี เป็นวัดเก่าแก่สมัยสุโขทัย ด้านหลังจรดเขา ด้านหน้าจรดแม่น้ำแม่กลอง มีชายหาดสวยงามอยู่หน้าวัด ภูเขาที่ตั้งถ้ำสูงราวๆ 200 กว่าเมตร ภูเขาลูกนี้เป็นเทือกเดียวติดต่อกันหลายยอดเป็นพืด ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือสุดปลายเขาที่เขาแหลมและเขาตกถ้ำมังกรทอง การเที่ยวชมถ้ำให้ครบทั้งหมด วันเดียวรับรองว่าไม่หมดแน่ ติดต่อสอบถามโทร. 092 362 4149
ปูชนียวัตถุและสถานที่ควรเที่ยวชม
- อุโบสถหลังเก่า ในอุโบสถมีพระพุทธรูปปางสมาธิพร้อมด้วยพระโมคคัลลาน์ พระสารีบุตร ซึ่งทำด้วยหินทรายลงรักปิดทองเป็นของเก่ามีมาแต่เดิม
- อุโบสถหลังใหม่ ซึ่งมีพระพุทธชินราชจำลอง
- พิพิธภัณฑ์วัดบ้านถ้ำ มีพระพุทธรูปเก่าที่ย้ายเอาลงมาจากถ้ำใหญ่หลายองค์ ถ้วยชามของเก่า
- ถ้ำคูหามังกรสวรรค์ หรือถ้ำนางบัวคลี่ ในถ้ำเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ใหญ่ปางมารวิชัยสมัยยุคสุโขทัยนามว่า “หลวงพ่อใหญ่ชินราช” แต่ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า หลวงพ่อใหญ่ หน้าตักกว้าง 8 ศอก สูง 11 ศอกเศษ ด้านหลังหลวงพ่อใหญ่ มีซอกหลืบหินเป็นโพลงใหญ่ ที่ผนังมีรอยถูกปิดมาช้านานจนกลายเป็นหินเนื้อเดียวกัน คนแต่เก่าเล่าว่าเป็นช่องทางเดินไปใต้บาดาลของหลวงพ่อองค์ที่มาอยู่สมัยสุโขทัย(อ่านเพิ่มเติมด้านล้าง “เรื่องเล่า วัดบ้านถ้ำ” ทางขวาของหลวงพ่อใหญ่เป็นที่เก็บชิ้นส่วนต่างๆ ของพระพุทธรูปแตกหักอยู่เกลื่อนไป ที่โขดหินใหญ่มีหินย้อยลงมาจากเพดานถ้ำใกล้ประตู ตอนส่วนบนเป็นที่ตั้งผาหินจะมีป้ายบอกว่า “เจ้าแม่บัวคลี่” มีที่ตั้งสักการบูชา ที่ผาหินจะเห็นสีนวลมีรูปร่างเป็นคนยืนมีผมยาวสูงราวเมตรเศษ รูปนี้เป็นสัญลักษณ์ของถ้ำที่ชาวบ้านนับถือว่าเป็นที่สิงสถิตดวงวิญญาณของนางบัวคลี่ เมียขุนแผนที่ถูกผ่าท้องเอาลูกทำเป็นกุมารทอง
- ถ้ำม่านวิจิตร ถ้ำนี้อยู่เหนือถ้ำคูหามังกรสวรรค์ไปหน่อย มีทางขึ้นวกไปวนมาจนถึงปากถ้ำ ค้นพบเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2521 ถ้ำนี้มีหินงอกหินย้อยคล้ายฉากม่านโรงละคร และรูปร่างอื่นๆ
- ถ้ำขุนแผน ถ้ำนี้มีทางแยกซ้ายมือตรงหน้าถ้ำม่านวิจิตร ถ้ำประวัติศาสตร์แห่งขุนแผนเมืองกาญจนบุรี ถ้ำนี้ค้นพบเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2521 ไฟฟ้าไปถึงแล้ว
- ถ้ำดอกจอก การเดินทางไปถ้ำนี้ต้องเดินข้ามเขาถ้ำม่านวิจิตรไปลงหุบเขาแล้วเดินไปตามไหล่เขาประมาณ ครึ่งชั่วโมงก็ถึง ในถ้ำมีหินย้อยห้อยระเกะระกะไปหมดน่าดูน่าชมถ้ำหนึ่ง ค้นพบเมื่อ 18 กันยายน 2521 ไฟฟ้ายังไปไม่ถึง
- อุทยานถ้ำดุสิต ถ้ำนี้เป็นถ้ำที่ใหญ่และสวยงามที่สุดในบรรดาถ้ำทั้งหลายในทิวเขานี้ มีห้องถึง 5 ห้องการเดินทางไปชมถ้ำนี้ต้องเดินทางไปเส้นทางเดียวกับถ้ำดอกจอกแต่อยู่เลยไปหน่อยหนึ่ง ทางที่ดีควรให้คนของวัดนำทางไปทั้งถ้ำดอกจอกและอุทยานหินถ้ำดุสิต เพราะไฟฟ้ายังไปไม่ถึงต้องเตรียมไฟฉายและเทียนไปด้วยพร้อมทั้งน้ำดื่ม ค้นพบเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2521
- ถ้ำหมื่นหาญ อันเป็นถ้ำประวัติศาสตร์เกี่ยวกับขุนโจรหมื่นหาญ บิดาของนางบัวคลี่
- ถ้ำนางนวล ในถ้ำมีหินย้อยเป็นรูปหมอนข้างตั้งและหินย้อยเป็นรูปดอกไม้ที่งดงาม ทั้งสองถ้ำเป็นถ้ำเตี้ยอยู่หลังอุโบสถหลังใหม่ ไฟฟ้าเข้าถึง
- ถ้ำนางนอน เป็นถ้ำเปิดใหม่ล่าสุดเมื่อ 13 เมษายน 2522 ภายในมีหินงอกหินย้อยน่าชมถ้ำหนึ่งในบรรดาถ้ำเตี้ยๆ ไม่อยู่สูงเกินไปนัก
เรื่องเล่า วัดบ้านถ้ำ
วัดบ้านถ้ำนี้มีประวัติเล่ากันต่อๆ มาว่าสร้างในสมัยยุคสุโขทัย ตามประวัติเล่าว่า มีเศรษฐีคนหนึ่งร่ำรวยมากได้มาเห็นถ้ำที่บ้านถ้ำนี้ใหญ่โตสวยงามน่าอาศัย มีปล่องสว่างดีมีลมพัดถ่ายเทอากาศเข้าออกอยู่เสมอ ทำให้เย็นสบายคล้ายเข้าไปอยู่ในห้องแอร์ จึงนิมนต์หลวงพ่อองค์หนึ่งชื่อว่า หลวงพ่อทอง ผู้เป็นปฐมเจ้าอาวาส ซึ่งปรากฏว่าเป็นผู้มีชื่อเสียงโด่งดังทางด้านพุทธาคมให้มาอยู่จำพรรษาในถ้ำนี้ หลวงพ่อทอง ได้เลี้ยงนกสาริกาตัวหนึ่ง หัดให้พูดภาษาคนได้แม้กระทั่งทุกวันนี้ก็ยังมีนกสาริกาอาศัยอยู่ ท่านเศรษฐีได้หลวงพ่อทองมาอยู่จำพรรษาในถ้ำนี้ก็อาศัยหลวงพ่อช่วยสั่งสอนธรรมะให้ เกิดศรัทธาเลื่อมใสยิ่งๆ ขึ้น จึงได้จัดการสร้างพระพุทธรูปไว้ในถ้ำองค์หนึ่งแบบพระพุทธชินราช สูง 11 ศอก หน้าตักกว้าง 8 ศอกเศษ (ภายในไม่ทราบว่าเป็นอะไรแน่) แต่ภายนอกพอกด้วยปูนลงรักปิดทองไว้เป็นที่สักการะกราบไหว้บูชา หลวงพ่อทองท่านมีญาณแก่งกล้ามาก สามารถเดินทางไปตามซอกหินตลอดภูเขาได้ทะลุถึงเขาตกถ้ำมังกรทองซึ่งห่างไกลจากวัดบ้านถ้ำไปประมาณ 10 กม. เมื่อไปถึงแล้วท่านก็ลงสรงน้ำที่สระบัว แล้วก็เก็บดอกบัว 1 มัด 20 ใบ จุดไปกลับพอดีหมด ระยะทางที่ไปนี้ ถ้าสมาธิไม่กล้าพอก็ไปไม่ได้ตลอด เพราะในบาดาลภูเขามีพื้นดินและหาดทรายอันสวยงาม มีหมู่บ้านชาวเมืองลับแลอยู่มากมาย ผู้ที่จะผ่านไปได้จะต้องมีศิลมีสัตย์ดี ถ้าไร้ศิลไร้สัตย์ ก็จะถูกนางผีเสื้อยักษ์ที่เฝ้าด่านประตูทำอันตรายเอา จำเนียรกาลต่อมา ท่านเศรษฐีมีลูกชายใหญ่ขึ้น จึงนำมาถวายเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อโดยให้บวชเป็นสามเณร ต่อมาสามเณรเห็นหลวงพ่อไปในช่องภูเขาได้ทุกวันก็อยากไปบ้าง แม้หลวงพ่อจะห้ามปรามก็ไม่ยอมฟัง หลวงพ่อจึงต้องให้สามเณรตกลงให้สัญญากันก่อนว่า ในระหว่างทางที่ไป ถ้าเณรเห็นอะไรให้นิ่งไว้ เดินสำรวมอินทรีย์ตามรอยเท้าหลวงพ่อไป อย่าไปเกี่ยวข้องหลงใหลในสิ่งที่เห็นเป็นเด็ดขาด สามเณรยอมรับสัญญา หลวงพ่อจึงได้พาสามเณรเดินทางไปด้วยกัน พอเดินทางไปถึงประตูเมืองลับแลหลวงพ่อมีสมาธิจิตแก่กล้าก็สามารถเดินผ่านไปได้ตามปกติ ส่วนสามเณรเดินทางก้าวย่างตามรอยเท้าหลวงพ่อมาข้างหลังด้วยสมาธิจิตไม่มั่งคงนางยักษ์ผู้เฝ้าด่านประตูเห็นสามเณรแปลกหน้ามาก็คิดจะทดสอบดูจึงแปลงกายเป็นสาวน้อยรูปร่างโสภาเข้าทักทายด้วยวาจาอ่อนหวาน สามเณรกำลังรุ่นคะนองมองเห็นสาวสาวยก็เสียสมาธิจิตคิดเสน่หา จึงเอ่ยวาจาเกี้ยวพาราสีพอได้ช่องทีก็จะทำการล่วงเกิน นางยักษ์เมื่อทดสอบดูก็รู้ได้ว่า สามเณรนี้ไร้สัตย์ไร้ศีล ไม่สมควรให้พลัดผ่านประตูเมืองลับแลเข้าไป จึงได้เอ่ยวาจาห้ามปราม ฝ่ายสามเณรไม่ยอมฟังเสียจะรีบตามหลวงพ่อเข้าไปให้ได้ สาวน้อยจึงกลายร่างเป็นนางยักษ์ตรงเข้าบิดคอสามเณรจนตาย หลวงพ่อเมื่อเดินทางเข้าถึงหมู่บ้านเมืองลับแลยืนรออยู่ครู่ใหญ่ก็ไม่เห็นสามเณรมาสักทีก็นึกเฉลียวใจว่าเณรได้รับเภทภัยจากนางยักษ์เป็นแน่ จึงรีบกลับไปดูก็พบสามเณรถูกบิดคอตายเสียแล้ว ถามนางยักษ์ได้ความจริงว่า สามเณรทำผิดศีลผิดสัตย์จึงถูกลงโทษถึงตาย หลวงพ่อจึงขอร้องให้นางยักษ์ช่วยแก้ไขให้สามเณรฟื้นขึ้นมาอีก พอสามเณรฟื้นขึ้นมาแล้วก็รีบพากลับถ้ำ ตั้งแต่วันนั้นมาสามเณรก็ล้มป่วยไม่มีใครทราบสาเหตุ อยู่จนครบ 7 วัน สามเณรก็ถึงแก่มรณภาพ มีแต่หลวงพ่อองค์เดียวเท่านั้นรู้สาเหตุการตายของสามเณร แต่เพราะกลัวจะเกิดความยุ่งยากจึงไม่บอกเรื่องนี้ให้ใครทราบ ตั้งแต่วันนั้นมาหลวงพ่อจึงเอาหินอุดช่องถ้ำที่เคยชำแรกภูเขาไปอย่างมิดชิดเสีย เพื่อป้องกันมิให้ใครหลงเข้าไปอีก ทั้งตัวหลวงพ่อเองก็เลิกชำแรกเข้าช่องภูเขา ตั้งแต่นั้นมา ช่องเขานั้นถูกอุดมานานแสนนานตราบจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ แล้วปรากฏว่าได้มีหินงอกย้อยมาปิดทางจนหมดสิ้น เหลือไว้แต่เพียงร่อยรอยเท่านั้น ฝ่ายท่านเศรษฐีนั้นครั้นเมื่อลูกชายตายไปแล้ว จึงคิดว่า ต่อไปภายภาคหน้า ถ้าลูกหลานเข้ามาบวชอยู่ในถ้ำนี้อีกก็คงจะเกิดเหตุเภทภัยถึงแก่ความตายอย่างนี้อีกเป็นแน่ จึงสั่งให้คนงานทำการสร้างวัดที่เชิงเขาข้างล่างตรงปากถ้ำ แล้วขนานนามเรียกว่า “วัดบ้านถ้ำ” มาตราบเท่าทุกวันนี้
เกี่ยวกับเรื่องเมืองลับแลนี้ก็มีสิ่งแปลก ที่ชาวบ้านเล่ากันต่อๆ มาว่า เคยมีคนหลงเข้าไปในหมู่บ้านเมืองลับแลก็มีบ่อยๆ อนึ่ง ถ้าปีไหนมีฝนตกชุกมาก ปีนั้นจะมีน้ำไหลบ่มาตามหุบเขาไหลลงลำธารที่ห้วย น้ำวิ่งไหลลงที่หลังวัดเป็นน้ำตกที่สวยงาม และปรากฏว่าในลำธารที่น้ำไหลมานั้นจะเห็นมีเปลือกหมากเปลือกส้มโอและผลไม้อื่นๆ ไหลตามน้ำลงมาด้วย คนแถบนั้นเชื่อกันว่าเป็นสิ่งของที่ชาวเมืองลับแลทิ้งแล้วลอยตามน้ำมา
ที่มาข้อมูล : หนังสือ “ประวัติวัดบ้านถ้ำ” พิมพ์ครั้งที่ 5 เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553