เขื่อนศรีนครินทร์
ต.ท่ากระดาน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี
สถานที่เช็คอิน ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้จำนวนมาก เป็นเขื่อนประเภทหินถมแกนดินเหนียวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อยู่ไม่ห่างจากน้ำตกเอราวัณ 8 กม. เขื่อนศรีนครินทร์ เป็นเขื่อนอเนกประสงค์แห่งแรกของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำแม่กลองสร้างขึ้น บนแม่น้ำแควใหญ่ บริเวณบ้านเจ้าเณร ตำบลท่ากระดาน อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี สถานที่ได้รับการดูแลจากเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดี สวนต้นไม้สวยงามตลอดเวลา สะอาด เห็นวิวท้องฟ้า น้ำและภูเขา สวยประทับใจ มีลานจอดรถกว้างสะดวกสบาย ด้านบนสันเขื่อน มีร้านอาหารและเครื่องดื่ม จุดนั่งเล่น ห้องน้ำสะอาดหลายห้อง










ประโยชน์
เขื่อนศรีนครินทร์เป็นโครงการอเนกประสงค์ ซึ่งอำนวยประโยชน์ในด้านต่างๆ ดังนี้
- ชลประทานช่วยส่งเสริมระบบชลประทาน โครงการแม่กลองใหญ่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยมีเขื่อนแม่กลองของกรมชลประทานเป็นหัวงานทดน้ำเข้าสู่พื้นที่เกษตรได้ตลอดปีเป็นเนื้อที่ถึง 4,118 ล้านไร่
- ผลิตไฟฟ้าสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้เฉลี่ยปีละประมาณ 1,250 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง
- บรรเทาอุทกภัยสามารถกักเก็บน้ำที่หลากมาในช่วงฤดูฝนไว้ในอ่างเก็บน้ำ ได้เป็นจำนวนมาก ช่วยบรรเทาอุทกภัยในเขตลุ่มน้ำแม่กลองให้ลดน้อยลง
- คมนาคมทางน้ำสามารถใช้เป็นเส้นทางเดินเรือขึ้นไปยังบริเวณอำเภอทองผาภูมิจังหวัดกาญจนบุรี และอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ได้อย่างสะดวกและรวดเร็วขึ้น
- ผลักดันน้ำเค็มสามารถปล่อยน้ำลงผลักดันน้ำเค็มมิให้หนุนล้ำเข้ามาทำความเสียหายแก่พื้นที่บริเวณ ปากน้ำแม่กลองในช่วงฤดูแล้ง
- ประมงเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดที่อุดมสมบูรณ์ ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับราษฎรอีกทางหนึ่งด้วย
แหล่งท่องเที่ยวรอบเขื่อน
เขื่อนศรีนครินทร์นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจที่สวยงามอีกแห่งหนึ่งในจังหวัดกาญจนบุรี ให้ทั้งความรู้และความเพลิดเพลินแก่ผู้มาเที่ยวชมปีละเป็นจำนวนกว่าแสนคน และก่อให้เกิดการขยายตัวทางการท่องเที่ยว อย่างกว้างขวาง เช่น แพท่องเที่ยวในอ่างเก็บน้ำ เป็นต้น
- สวนเวลารำลึกสร้างขึ้นในศุภมงคลสมัยที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงเจริญพระชนมายุ 90 พรรษา บนเนื้อที่ 30 ไร่ บริเวณเชิงเขาริมอ่างเก็บน้ำ ใกล้ท่าเรือเขื่อนศรีนครินทร์ เริ่มก่อสร้างตั้งแต่เดือนเมษายน 2533 แล้วเสร็จ เดือนมีนาคม 2534ด้วยรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ และตระหนักในพระราชจริยาวัตรของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีที่ทรงยึดถือปฏิบัติ อีกทั้งแสดงออกให้ประจักษ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของเวลา ทรงเชื่อมั่นว่าเวลาเป็นของมีค่า จึงควรใช้เวลาให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ในการออกแบบสวนจึงเลือกนาฬิกาแดดเป็นสัญลักษณ์ เพื่อสื่อความสัมพันธ์เกี่ยวกับกาลเวลา นอกจากนี้ ยังได้แต่งเติมเสริมสร้างสิ่งตกแต่งต่างๆ ให้เป็นองค์ประกอบที่สมบูรณ์แบบของสวน เฉลิมพระเกียรติแห่งนี้
- นาฬิกาแดดและวิธีการอ่านนาฬิกาแดดเป็นประติมากรรมสร้างขึ้นด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก วัดตามแนวโค้งยาว 23.80 เมตร ส่วนกว้างที่สุด 9.95 เมตร ส่วนแคบที่สุด 6.25 เมตร หนา 0.80 เมตร เข็มรับแสงอาทิตย์ทำให้เกิดเงา หล่อด้วยโลหะผสมขนาดยาว 6.5 เมตร กว้าง 1 เมตร ตั้งหันหน้าลงทิศใต้ แผ่นหน้าปัดเอียง 28.6 องศาที่เส้นรุ้ง 140 24′ 32″ เหนือ เส้นแวง 99 7′ 36″ ตะวันออก บนผิวหน้าปัดปิดด้วยกระเบื้องเคลือบ สีเทาขาวประกอบด้วยสัญลักษณ์และอักษรย่อบอกเดือนต่างๆ
- เส้นสีน้ำเงินแก่บอกเดือนมกราคม – มิถุนายน
- เส้นสีน้ำเงินอ่อนบอกเดือนกรกฎาคม – ธันวาคม
- เส้นสีแดงเข้มบอกเวลาของเดือนมกราคม – มิถุนายน
- เส้นสีเหลืองบอกเวลาของเดือนกรกฎาคม – ธันวาคมตัวเลข 07.00 น. ถึง 18.00 น. ปลายเส้นสีแสด และสีส้ม บอกชั่วโมงเงาจากปลายเข็มจะทาบลง ที่พื้นหน้าปัดให้ดูเวลาเดือน และฤดูกาลตามเส้นทางต่างๆ

แผนที่
ติดต่อ เขื่อนศรีนครินทร์
โทร. 034 574 248
Facebook : กฟผ. เขื่อนศรีนครินทร์
ผู้สนับสนุนการเก็บข้อมูล
- คุณพงศกร ธงทอง