เมืองมัลลิกา ร.ศ. 124
อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี
เมืองมัลลิกา ร.ศ. 124 เมืองที่พาคุณย้อนกลับไปในปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีการประกาศเลิกทาส เมื่อย่างก้าวเข้าไปเปรียบดั่งหลุดผ่านกระจกในหนังเรื่องทวิภพ ของทมยันตี เลยที่เดียว เมืองมัลลิกา ร.ศ. 124 ถูกเนรมิตรขึ้นด้วยงบประมาณถึง 200 ล้านบาท บนพื้นที่ 60 ไร่ ตั้งอยู่ใน อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี เมื่อเดินผ่านประตูกำแพงสูงใหญ่ ก็จะพบกับสถาปัตยกรรมในรัชสมัย ร. 5 สร้างได้สมจริง เดินผ่านผู้คนชาวสยามเกือบ 400 คนที่แต่งกายและผู้จาทักทายเราด้วย “เจ้าคะ ขอรับ” จนทำให้เคลิ้มไปกับบรรยากาศของเมืองมัลลิกา ได้เห็นถึงการค้าขายของชาวสยามในอดีต ชีวิตสังคม ศิลปะ ซึ่งรุ่งเรืองขึ้นมาในยุคหลังเลิกทาส คุณจะได้ทานอาหารไทยแบบต้นตำรับหลากหลายเมนู เช่น ขนมเสน่ห์จันทร์ ขนมจ่ามงกุฏ ขนมทองเอก ขนมหยกมณี ขนมบุหลันดั้นเมฆ ขนมชั้น ขนมถ้วยฟู ขนมจีบไทย ขนมน้ำดอกไม้ ขนมเรไร ขนมเปียกปูน ขนมไข่ปลา ขนมต้มขาว ขนมต้มแดง เป็นต้น เมืองมัลลิกา จะทำให้คุณไม่ต้องจินตนาการอีกต่อไป เพราะมันสมจริงที่สุดแล้ว
เมืองมัลลิกา ร.ศ. 124
ข้อมูลท่องเที่ยว
- ชื่อ : เมืองมัลลิกา ร.ศ. 124
- ประเภท : แหล่งท่่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์
- ที่อยู่ : 168 ม.5 ต.สิงห์ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี
- การเดินทาง : จากตัวเมืองกาญจนบุรีมุ่งหน้ามาทาง อ.ไทรโยค ห่างจากตัวเมืองกาญจนบุรี 30 กม. ตั้งอยู่ติดถนนแสงชูโต ปากทางเข้าอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี
- แผนที่ Google map : https://goo.gl/maps/16Z7B9C7wS82
- เปิดบริการ : เปิดบริการทุกวันตั้งแต่เวลา 9.00-20.00 น.
- ค่าเข้า :
– ผู้ใหญ่ 250 บาท
– เด็ก 120 บาท (สูงระหว่าง 80-120 ซม.) สูงต่ำกว่า 80 ซม. เข้าฟรี
– ผู้สูงอายุ (เกิน 70 ปี) 120 บาท
– ผู้พิการ 120 บาท
– แพ็คเกจ ค่าเข้าชม+ สำรับเย็น + ชมการแสดง ราคา ผู้ใหญ่ 700 บาท เด็ก 350 บาท
– สำหรับผู้ที่ต้องการแต่งชุดไทย ค่าเช่าชุด ผู้หญิง 200 บาท ผู้ชาย 100 บาท เด็ก 50 บาท - สถานที่จอดรถ : กว้างขวางเป็นของตัวเอง สามารถรองรับกลุ่มทัวร์ได้
- สิ่งอำนวยความสะดวก :
- ร้านอาหารหลายหลายร้าน
- ศิลปะการแสดง
- ชุดไทยสำหรับแต่งกาย
- ร้านของที่ระลึก
- ร้านกาแฟ
- เรือนรับรองแขก
- ลานจอดรถฟรี
- ห้องน้ำ
- ค่าบริการชุดไทย ผู้หญิง 200 บาท ผู้ชาย 100 บาท เด็ก 50 บาท
- Website : –
- Facebook : เมืองมัลลิกา ร.ศ. 124
- โทรศัพท์ : 034 540884-86
ภาพถ่าย
แผนที่
เมืองมัลลิกา ร.ศ. 124
ความน่าสนใจในการสร้างเมืองมัลลิกา ร.ศ. 124 ให้กลายเป็นเมืองโบราณที่ราวกับมีชีวิตจริงๆนี้ สะท้อนผ่านหลากหลายแง่มุม เริ่มต้นตั้งแต่การตั้งชื่อโดย อ.สุลักษณ์ ศิวลักษณ์ เลือกใช้ชื่อมัลลิกา ซึ่งเป็นชื่อแม่น้ำที่เป็นต้นน้ำของแม่น้ำอิระวดีในพม่า อันได้ชื่อว่าเป็นแหล่งรวมอารยธรรมโบราณในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไว้ด้วยกัน พร้อมกันนี้ชื่อมัลลิกา ซึ่งแปลเป็นไทยว่า “มะลิ “ ยังบังเอิญไปพ้องกับชื่อตัวละครสมมติที่ อ.ชาตรี ปกิตนนทกานต์ หัวหน้าภาควิชาสถาปัตยกรรมไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งมาช่วยควบคุมการออกแบบเรือนไทยตามหลักการสร้างเรือนประเภทต่างๆ ที่ถูกต้อง หยิบยกใช้เป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบทั้งหมดอีกด้วย
บนพื้นที่ 60 ไร่ภายในเมืองมัลลิกา ร.ศ.124 ประกอบด้วยเรือนไทย 4 ประเภท แต่ละเรือนจะสะท้อนภาพสถานะของผู้อยู่อย่างชัดเจน เริ่มจาก เรือนเดี่ยว เป็นเรือนชาวบ้าน เป็นที่อยู่ของชนชั้นกรรมมาชีพ ชาวนา มีหน้าที่ผลิตปัจจัยพื้นฐานในการยังชีพ ด้วยการทำไร่ ทำนา ทำสวน ปลูกผัก ณ เรือนนี้ นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างแท้จริง ตั้งแต่การเก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อส่งต่อไปใช้ในเรือนครัว กระบวนการสีและตำข้าวแบบโบราณเพื่อให้ได้ข้าวสาร
ถัดมาคือเรือนคหบดี ซึ่งเป็นที่อยู่ของชนชั้นปกครอง กิจกรรมบนเรือนแห่งนี้จะเน้นงานไปที่งานฝีมือ อย่างงานใบตอง งานดอกไม้ งานเครื่องแขวน งานแกะสลักผลไม้ ซึ่งเป็นผลงานศิลปะแสนประณีตที่หาชมได้ยาก อีกหนึ่งในความพิเศษของเรือนนี้คือ พื้นที่เรือนครัว ที่จะสะท้อนวิถีชีวิตการทำอาหารอย่างวิจิตรงดงามของคนสมัยก่อน ช่วยคืนชีพหลากหลายภูมิปัญญาที่แทบจะสูญหายไปแล้ว เช่น การหุงข้าวเตากระทะ การประกอบอาหารคาวหวานตามแบบฉบับโบราณแท้ๆ โดยผลงานจากเรือนครัวทั้งหมดนี้ จะถูกส่งต่อไปใช้ประโยชน์จริง ไม่ว่าจะเป็น พวงมาลัยจะนำไปใช้สำหรับต้อนรับแขก เช่นเดียวกับอาหารคาว-หวานจะนำไปใช้เลี้ยงพนักงานทุกคนในเมืองจำลอง
ในส่วนของเรือนหมู่ เป็นเรือนสำหรับรับแขกบ้านแขกเมืองของคหบดี โดยปกติเรือนเหล่านี้มักมีคณะนาฏศิลป์ของตัวเองสำหรับรับแขก ดังนั้นเรือนนี้จะสะท้อนวิถีชีวิตของนาฏศิลป์ไทย รวมทั้งความวิจิตรบรรจงของสำรับกับข้าวไทยที่ขึ้นชื่อทั้งรสชาติและหน้าตาอาหาร ที่นี่ถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ เพราะเป็นเรือนหมู่ที่ถือว่าใหญ่ที่สุดในประเทศไทยเลยทีเดียว ปิดท้ายด้วยเรือนแพซึ่งเป็นที่ตั้งของร้านค้าต่างๆ จำลองบรรยากาศย่านการค้าในอดีต ซึ่งเส้นทางหลักในการสัญจรไปมา คือทางน้ำ ดังนั้นเรือนแพเหล่านี้จึงปลูกไว้ริมน้ำ รายล้อมไปด้วยร้านค้ามากมาย ร้านที่มาแล้วพลาดไม่ได้ คือ ร้านกาแฟตงฮู ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นร้านกาแฟที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้นจริงๆ เพราะมีการนำเข้าเมล็ดกาแฟสดจากต่างประเทศเข้ามาใช้ ถัดมาคือร้านข้าวแกงที่สร้างจุดขายได้อย่างน่าสนใจด้วยการนำเมนูข้างแกงที่รัชกาลที่5 ทรงโปรด มานำเสนอเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับรสชาติของอาหารแบบไทยแท้แบบดั้งเดิม นอกจากนี้ยังมีร้านจำหน่ายของชำร่วย เพื่อเป็นตัวแทนความทรงจำให้นักท่องเที่ยวได้เลือกซื้ออีกด้วย
ข้อความจาก คุณพลศักดิ์ ประกอบ ผู้ก่อตั้งเมือง มัลลิกา ร.ศ. 124
“ผมชอบท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ เวลาที่ผมมีโอกาสไปเที่ยวแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ผมมักตั้งคำถามว่า เบื้องหลังสถาปัตยกรรมเหล่านี้ มีวิถีชีวิตและภูมิปัญญาอะไรซ่อนอยู่ ประกอบกับตัวผมเองชอบอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ชาติไทย จึงพบว่าวิถีชีวิตชาวไทยในสมัยโบราณนั้นมีภูมิปัญญาที่น่าสนใจแทรกอยู่ เลยเกิดไอเดียว่าคงจะดีไม่น้อยหากเรานำเรื่องราวเหล่านี้มาส่งต่อให้กับเด็กรุ่นหลังได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ เข้าใจว่ารากเหง้าของบรรพบุรุษไทยมีที่มาที่ไปอย่างไร ผ่านสถานที่ท่องเที่ยวซึ่งจำลองบรรยากาศบ้านเมืองในอดีต ควบคู่ไปกับการสะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ ผมจึงตัดสินใจสร้างเมืองมัลลิกา ร.ศ.124 ขึ้นมาเพื่อให้ถ่ายทอดวิถีชีวิตของผู้คนในยุคหลังเลิกทาสไว้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุดในรูปแบบ “Living Heritage” หรือ มรดกทางวัฒนธรรมที่ยังมีลมหายใจ”